วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6997 ข่าวสดรายวัน


"หนังสือเดซี่" ประตูเรียนรู้จากโลกมืด





การนวดแผนไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ที่สำคัญการนวดกับหมอแผนไทยที่พิการทางสายตายังได้รับความนิยมไม่แพ้กัน แต่ความจริงแล้วหมอนวดที่พิการทางสายตาทุกคนยังไม่ถูกรับรองให้เป็นผู้ ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรม การวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยอย่างถูกต้องเหมือนกับหมอนวดที่สายตาปกติทั่วไป

ทางมูลนิธิเด็กพิการ จึงร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้พิทักษ์ทางสายตา และวิทยาลัยราชสุดา เปิดตัวแบบเรียนเดซี่ หลักสูตรนวดไทยไฮเทค ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทย

เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสเรียนและสอบเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะได้ต่อไป

น.พ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขา การแพทย์แผนไทย ว่า จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเตรียมคนตาบอดให้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะสอบใบประกอบ โรคศิลปะได้ โดยโครงการนี้ในอนาคตจะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งสื่อต่างๆ อย่างเช่น หนังสือเสียงเดซี่ ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของคนตาบอด

โดยจะขยายไปยัง 7 องค์กร ได้แก่

1.ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ปากเกร็ด
2.ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน
3.สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
4.มูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด
5.มูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอดในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
6.ศูนย์การเรียนรู้และสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี และ
7.สมาคมส่งเสริมการนวดแผนไทยคนตาบอด



นอกจากนี้โครงการจะสนับสนุนมูลนิธิหรือเครือข่ายคนตาบอดที่สอนนวดอยู่แล้ว ให้ได้รับการรับรองเป็นสถาบันอบรมถ่ายทอดความรู้วิชาชีพการนวดไทย ที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

ผศ.ดร.พิมพา ขจรธรรม คณบดีวิทยาลัยราชสุดา กล่าวว่า ผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือด้วยระบบสัมผัสทางเสียง เช่น เทปคาสเซ็ต หรือการอ่านด้วยระบบสัมผัส เช่น อักษรเบรล เพราะหนังสืออักษรเบรลมีความหนาเกินไป อย่าง 1 หน้า A4 ของหนังสือธรรมดา จะได้หนังสือเบรล 2 หน้าครึ่ง ทำให้พกพาไม่สะดวก ส่วนเทปคาสเซ็ตก็ไม่ทนทาน และไม่สามารถค้นหาคำหรือประโยคได้ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับผู้พิการทางสายตา

วิทยาลัย ราชสุดาจึงคิดค้นและจัดทำหนังสือเสียงเดซี่ (DAISY) หรือ DAISY ACCESSIBLE INFORMATION SYSTEM ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เขาต้องการค้นหาได้ ซึ่งหลักสูตรแรกที่วิทยาลัยได้จัดทำสำหรับหนังสือเสียงเดซี่ คือสื่อการเรียนการสอนสำหรับหมอนวดตาบอด ที่มีเสียงและรูปภาพแบบนูนที่ผู้พิการทางสายตาสัมผัสในหนังสือได้ หนังสือเสียงเดซี่นี้มีสองรูปแบบ คือแบบแผ่น ซีดีที่สามารถเปิดใช้ในคอมพิวเตอร์ได้ และแบบเล่มรูปภาพนูนที่สามารถสัมผัสรูปภาพและนำไปปฏิบัติตามได้



จุดเด่นของหนังสือเสียงเดซี่ที่แตกต่างจากหนังสืออักษรเบรลและเทปเสียง คือ รูปแบบอัจฉริยะและยืดหยุ่น เช่น หากผู้พิการทางสายตานำโปรแกรมหนังสือเสียงเดซี่เปิดในคอมพิวเตอร์ ก็สามารถสืบค้นคำที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพราะโปรแกรมจะค้นหาคำที่ต้องการให้พร้อมเสียงประกอบ ซึ่งผู้พิการทางสายตาสามารถฟังเสียงตามตัวอักษรที่หน้าจอได้เลย โปรแกรมอื่นๆ ไม่สามารถทำได้แบบนี้ และหากผู้พิการไม่อยากฟังในรูปแบบของเสียงก็สามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบของภาพ นูนเพื่อศึกษาได้ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา เพื่อสามารถสอบใบประกอบโรคศิลปะด้านการนวดไทยได้

อาจารย์ธรรม จตุนาม อาจารย์ประจำวิทยาลัยราชสุดากล่าวว่า หนังสือเดซี่เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่ง โดยกระบวนการผลิตหนังสือเสียงเดซี่ ขั้นตอนแรก คือ วิเคราะห์ต้นฉบับหนังสือ โดยวิเคราะห์จากเนื้อหาภายในและเน้นเนื้อหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงของคนตาบอด เช่น รูปภาพ ตาราง เป็นต้น

ขั้นตอนที่สอง คือการพิมพ์ต้นฉบับ โดยพิมพ์ตามรูปแบบที่ปรากฏในต้นฉบับ

ขั้นตอนที่สาม คือ การทำ Mark up ตามไฟล์ต้นฉบับ

ขั้นตอนที่สี่ คือ การตรวจสอบข้อผิดพลาดของ htal code โดยใช้โปรแกรม Validator

ขั้นตอนที่ห้า คือการบันทึกเสียง โดยใช้โปรแกรม sigtunar ขั้นตอนที่หก คือการตัดต่อและแก้ไขไฟล์ โดยใช้โปรแกรม sigtunar ตัดต่อไฟล์ และ ขั้นตอนสุดท้าย คือ การผลิตเป็นหนังสือเสียงต้นฉบับ โดยนำไฟล์ที่แก้ไขแล้วมาเรียงลำดับเนื้อหาและจัดทำสำเนาต้นฉบับหนังสือเสียง เพื่อนำไปใช้

อาจารย์ธรรมกล่าวต่อว่า ทางเรามีหน้าที่ผลิตต้นฉบับ โดยมีทีมงานประมาณ 5 คน รูปแบบการทำงานคล้ายๆ การทำห้องอัด คือ มีช่างเทคนิคคนหนึ่ง โปรดิวเซอร์คนหนึ่ง คนอ่านเสียงคนหนึ่ง โดยขั้นตอนพิมพ์หนังสือลง Text จะเหนื่อยที่สุด เพราะใช้เวลานาน หนังสือเดซี่นี้ในประเทศไทยเรียก "สื่อเสียงสำหรับคนตาบอด" แต่ทางต่างประเทศเขาเรียกว่า "สื่อเสียงสำหรับผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์"

ผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ คือ ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ได้ เช่น คนตาบอด ผู้สูงอายุ และคนพิการแอลดีที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ โดยคนประเภทนี้เป็นหมอนวดแผนไทยเยอะ และถ้าเอาโปรแกรมเสียงพวกนี้ไปให้เขาฟังเขาก็จะอ่านได้และเรียนรู้เนื้อหา การนวดได้

นายโชคชัย คำโพธิ์ทอง หมอนวดที่พิการทางสายตา กล่าวว่า หนังสือเดซี่ช่วยให้เข้าใจเรื่องการนวดมากขึ้น เพราะเวลาเราฟังเราจะเรียนรู้เรื่องเส้นและเรื่องการนวดที่ละเอียดขึ้น จากเมื่อก่อนเรียนจากหนังสือเบรลแล้วก็ครูสอน และการใช้งานก็ใช้ได้สะดวกแต่ควรมีพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน ตนคิดว่าหากหนังสือเดซี่นี้มีกระแสตอบรับที่ดี คนตาบอดจะมาเรียนเพิ่มขึ้น เพราะอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนตาบอดส่วนใหญ่ก็มาจากอาชีพนวดแผนไทย

หนังสือเดซี่จึงเป็นอีกช่องทางที่ช่วยผู้พิการทางสายตา


หน้า 21

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNakkxTURFMU13PT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE1DMHdNUzB5TlE9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น